โอลด์ แทรฟฟอร์ด ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นโรงละครแห่งความฝันคือสนามเหย้าของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่มีค่ำคืนอันน่าจดจำมากมายตลอดกว่าร้อยปีที่ผ่านมา
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กำลังจะลงเล่นท่ามกลางแสงไฟที่สาดส่องลงมาอีกครั้งในเกมยุโรปคืนนี้ เมื่อต้องเปิดบ้านต้อนรับการมาเยือนของไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น จากเยอรมันในรอบแบ่งกลุ่มแชมเปี้ยนส์ ลีก กลุ่มเอ ดังนั้นมันจึงได้เวลาที่เราจะไปย้อนดูว่ามีเกมไหนบ้างที่น่าจดจำที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด ยามค่ำคืน
สนามแห่งนี้เริ่มต้นสร้างขึ้นโดยคำสั่งของ จอห์น เฮนรี่ เดวี่ส์ ในปี 1909 หลังจากที่เขาไม่พอใจกับสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่สนามแบงค์ สตรีท ซึ่งไม่เหมาะสมกับทีมที่เพิ่งคว้าแชมป์ดิวิชั่น 1 และเอฟเอ คัพ มา
โอลด์ แทรฟฟอร์ด นั้นถูกออกแบบโดย อาร์คิบัลด์ ลีตช์ นักออกแบบอาคารผู้โด่งดังชาวสก็อตผู้สร้างชื่อมาแล้วกับการออกแบบสนามแอนฟิลด์, แฮมป์เดน พาร์ค และไฮบิวรี่ โดยแรกเริ่มนั้นสนามเหย้าแห่งใหม่ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตั้งใจจะให้จุผู้ชมได้ราวแสนคน แต่สุดท้ายด้วยเหตุผลด้านงบประมาณจึงทำให้มันมีความจุลดลงเหลือ 80,000 ที่นั่ง โดยเดวี่ส์นั้นใช้เงินลงทุนไปราว 60,000 ปอนด์
หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 สนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด นั้นติดตั้งที่นั่งทั่วทั้งสนาม และก็ได้กลายเป็นสนามฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักรรองจากเวมบลีย์ รวมถึงใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 9 ในยุโรปด้วย ความจุปัจจุบันคือ 75,731 ที่นั่ง ถือเป็นสถานที่ที่เชิดหน้าชูตาให้กับเมืองแมนเชสเตอร์เป็นอย่างดี
และนี่ก็คือ 10 สุดยอดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่สนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด ในยามค่ำคืน…
1. 25 เมษายน 1957 : แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 2-2 เรอัล มาดริด
เรอัล มาดริด ชุดที่มี อัลเฟรโด้ ดิ สเตฟาโน่ ลงเล่นถือว่าเป็นทีมชุดที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล มันเกิดขึ้นช่วงกลางยุค 1950 โดยพวกเขามาเจอกับทีมระดับตำนานอีกทีม นั่นก็คือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ชุดบัสบี้ เบบส์
ทีมปีศาจแดงผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศในยูโรเปี้ยน คัพ ได้เป็นครั้งแรก และพวกเขาก็ได้เปิดบ้านต้อนรับทีมราชันชุดขาวในเลกสอง ถือเป็นครั้งแรกที่เกมการแข่งขันมีไฟสาดส่องลงมาในสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด แต่ผลการแข่งขันก็ไม่ได้น่าจดจำนัก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เสมอ แต่ก็แพ้ไปด้วยผลประตูรวม 3-5 แต่มันก็ได้เป็นการประกาศว่าทีมชุดบัสบี้ เบบส์ นั้นพร้อมที่จะก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ในระดับยุโรปแล้ว
เรอัล มาดริด ชุดนั้นคือกาลาคติกอสฉบับดั้งเดิม พวกเขามีทั้ง เรย์มอนด์ โคปา, โจเซโต้ และ ปาโก้ เฆนโต้ เกมนั้นแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้ประตูจาก ทอมมี่ เทย์เลอร์ และ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน เป็นการตีเสมอประตูในครึ่งแรกจากโคป้าและ เฮคเตอร์ ไรอัล ศูนย์หน้าชาวอาร์เจนไตน์
ผลการแข่งขันดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะทำให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทะลุเข้าไปชิงดำกับฟิออเรนติน่า และเรอัล มาดริด ก็สามารถคว้าแชมป์รายการนี้ได้เป็นสมัยที่ 2 ของพวกเขา
การที่เกมนี้เป็นครั้งแรกที่เล่นในยามค่ำคืนที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด ก็เพราะว่าเกมก่อนหน้านี้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องไปเตะกันที่เมน โร้ด ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ โดยทีมชุดนั้นยังมีนักเตะอย่าง ดันแคน เอ็ดเวิร์ดส, เอ็ดดี้ โคลแมน, เดวิด เพ็กก์, แจ็คกี้ บลันช์ฟลาวเวอร์ และ โรเจอร์ เบิร์น อยู่ในทีมด้วย
ด้วยการที่ทีมปีศาจแดงคว้าแชมป์ลีกอังกฤษได้ในปี 1957 ทำให้พวกเขาได้โอกาสไปเตะในยูโรเปี้ยน คัพ อีกในฤดูกาลต่อมา แต่ครั้งนี้ก็ไม่ได้ไปเตะล้างตากับเรอัล มาดริด แต่อย่างใด
2. 8 เมษายน 1958 : แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 2-1 เอซี มิลาน
ก่อนหน้าเกมนี้ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ปีเดียวกัน ขณะที่เดินทางกลับมาจากเกมเยือนเร้ด สตาร์ เบลเกรด ที่ยูโกสลาเวีย นักเตะชุดบัสบี้ เบบส์ อันโด่งดังของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็ประสบอุบัติเหตุที่สนามบินมิวนิค-รีม ทีมปีศาจแดงคว้าผลเสมอ 3-3 กลับออกมาได้ ทำให้ทีมทะลุผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศ โดยผลประตูรวมเอาชนะเร้ด สตาร์ ไป 5-4
ด้วยหิมะที่ปกคลุมอย่างหนาแน่น ทำให้เครื่องบินพุ่งไปชนกับรันเวย์ในช่วงเทคออฟ มีผู้เสียชีวิตทันที และเสียชีวิตในภายหลังรวมทั้งสิ้น 23 คน และเหตุการณ์นี้ก็ถูกเรียกในภายหลังว่าเป็นโศกนาฏกรรมมิวนิค ถือเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของสโมสรเลยก็ว่าได้
โรเจอร์ เบิร์น, เอ็ดดี้ โคลแมน, มาร์ค โจนส์, ดันแคน เอ็ดเวิร์ดส, บิลลี่ วีแลน, ทอมมี่ เทย์เลอร์, เดวิด เพ็กก์ และ เจฟฟ์ เบนท์ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในครั้งนี้ ขณะที่ แจ็คกี้ บลันช์ฟลาวเวอร์ และ จอห์นนี่ เบอร์รี่ ไม่สามารถกลับมาเล่นฟุตบอลได้อีกเลย ถึงตรงนี้ไม่ได้บัสบี้ เบบส์ อีกต่อไปแล้ว
แมตต์ บัสบี้ ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดที่โรงพยาบาลเรชท์ส เดอร์ ไอซาร์ ที่มิวนิค ผู้ช่วยโค้ชของเขาคือ จิมมี่ เมอร์ฟี่ จึงต้องรับหน้าที่คุมทีมแทนไปก่อน ถือเป็นงานที่ไม่ง่ายเลย เพราะกลุ่มนักเตะที่เสียชีวิตไปก็มีความสนิทสนมกับเขาเป็นอย่างมาก เมอร์ฟี่ได้ทำงานร่วมกับ โจ อาร์มสตรอง หัวหน้าแมวมองของทีมในการผลักดันนักเตะเยาวชนเหล่านั้นขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่ งานหนักของเขาในครั้งนี้ก็คือต้องรวมสโมสรให้กลับมาเป็นหนึ่งเดียว และสร้างทีมขึ้นมาใหม่เพื่อมุ่งหน้าสู่ความสำเร็จอีกครั้ง
ก่อนหน้าเหตุการณ์อันน่าเศร้านั้น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ดีที่จะกลายเป็นสโมสรแรกที่คว้าแชมป์ดิวิชั่น 1 ได้ 3 สมัยติดต่อกัน พวกเขาตามหลังวูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส เพียงแค่ 6 คะแนนเท่านั้น โดยยังเหลือเกมให้ลงเล่นอีก 14 เกม ขณะที่ในเอฟเอ คัพ ก็กำลังจะได้เล่นในรอบที่ 5
ปีก่อนแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต่อกรกับเรอัล มาดริด จ้าวยุโรปในสมัยนั้นได้อย่างสูสี ทำให้สื่อมวลชนต่างก็เชื่อกันว่าทีมชุดบัสบี้ เบบส์ จะสามารถคว้าทริปเปิ้ลแชมป์มาครองได้ เมอร์ฟี่ดันนักเตะจากชุดเยาวชนมาเล่นร่วมกับผู้รอดชีวิตอย่าง แฮร์รี่ เกร็กก์, เดนนิส ไวโอเล็ตต์ และ บิลล์ โฟล์คส และทีมปีศาจแดงก็ได้กลับมาเตะในเกมยุโรปเป็นครั้งแรกหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวเจอกับเอซี มิลาน ในบ้านวันที่ 8 พฤษภาคม 1958
ตอนนี้ทีมแชมป์จากอิตาลีมีนักเตะเด่นในทีมอย่าง ฮวน อัลแบร์โต้ สเคียฟฟิโน่, นิลส์ ลีดโฮล์ม และ เซซาเร่ มัลดินี่ โดยมีแฟนบอลเข้ามาชมเกมในนัดนี้ราว 44,000 คน
ทุกเหตุการณ์ในวันนั้นเต็มไปด้วยอารมณ์ ทีมปีศาจแดงเอาชนะไปได้ 2-1 โดยได้ประตูจากไวโอเล็ตต์กับ เออร์นี่ เทย์เลอร์ นักเตะของแบล็คพูลที่ย้ายมาเล่นแบบชั่วคราวเพื่อช่วยแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ขาดแคลนตัวผู้เล่น
มิลานได้ประตูขึ้นนำไปก่อนจากสเคียฟฟิโน่ และไวโอเล็ตต์ก็มายิงตีเสมอได้ก่อนจบครึ่งแรก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เดินเครื่องเต็มสูบในครึ่งหลัง และก็มาได้ประตูชัยจากเทย์เลอร์ด้วยลูกจุดโทษในนาทีที่ 80 เขาซัดมันผ่านมือ ลอเรนโซ่ บุฟฟ่อน เข้าประตูไป ทำให้เสียงเฮดังกึกก้องไปทั่วสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด
แม้ว่าในเลกสองแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะถูกมิลานถล่มไป 4-0 แถมอันดับในดิวิชั่น 1 ก็ร่วงลงมาจบที่ 9 ทางยูฟ่าก็ยังส่งจดหมายเชิญสโมสรเข้าร่วมการแข่งขันในฤดูกาล 1958/59 ร่วมกับทีมแชมป์ของอังกฤษอย่างวูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส แต่ทีมปีศาจแดงก็ตอบปฏิเสธไปเนื่องจากมองว่ามันไม่ถูกต้องที่จะได้ไปแข่งขันแบบไม่ได้มาจากการคัดเลือกตามกฏ
อย่างไรก็ตาม แมตต์ บัสบี้ และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็หาทางกลับมาเข้าร่วมการแข่งขันในถ้วยยุโรปได้สำเร็จในเวลาต่อมา จนกระทั่งกลายเป็นสโมสรแรกจากอังกฤษที่คว้าถ้วยยูโรเปี้ยน คัพ ในปี 1968 และค่ำคืนในเดือนพฤษภาคม 1957 ที่พบกับเอซี มิลาน ก็ถือเป็นหนึ่งในเกมที่น่าจดจำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของโอลด์ แทรฟฟอร์ด ตราบชั่วลูกชั่วหลาน
3. 2 กุมภาพันธ์ 1966 : แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 3-2 เบนฟิก้า
ก่อนที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะคว้าแชมป์ยุโรปได้หลังจากโศกนาฏกรรมที่มิวนิคนั้น ทางสโมสรก็ได้กลับมาเข้าร่วมการแข่งขันนี้ 2 ปีก่อนหน้าที่จะได้ชูถ้วยในปี 1968 และมันก็เกิดค่ำคืนที่น่าจดจำขึ้นที่สนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด ด้วย
รอบก่อนรองชนะเลิศ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด โคจรมาพบกับเบนฟิก้าที่มีดาวดังในทีมอย่าง ยูเซบิโอ และมีผู้จัดการทีมชั้นยอดอย่าง เบล่า กุตต์มันน์ ตอนนั้นเบนฟิก้าถือเป็นทีมแกร่งทีมหนึ่งในยุโรป พวกเขาคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ ติดต่อกันในปี 1961 และ 1962 รวมถึงเป็นรองแชมป์ในปี 1963 และ 1965 ด้วย
อย่างไรก็ตาม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็รับมือกับพวกเขาได้เป็นอย่างดี ตอนนี้กลุ่มนักเตะที่ได้กลายมาเป็น “สามแข้งศักดิ์สิทธิ์” ของสโมสรอย่าง จอร์จ เบสต์, บ็อบบี้ ชาร์ลตัน และ เดนิส ลอว์ ต่างก็กระหายความสำเร็จกันอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ก็ยังมีนักเตะดีๆ ในทีมอย่างเช่น น็อบบี้ สไตล์ส, แพ็ท ครีแรนด์, จอห์น คอนเนลลี่ และ โทนี่ ดันน์ อยู่ในทีมด้วย และก็อย่าลืม บิลล์ โฟล์คส กับ แฮร์รี่ เกร็กก์
โชเซ่ ออกัสโต้ ของเบนฟิก้าซัดขึ้นนำในนาทีที่ 10 แต่ก่อนจบครึ่งแรก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็รัวยิง 2 ประตูแซงขึ้นนำจากฝีเท้าของ เดวิด เฮิร์ด และ เดนิส ลอว์
บิลล์ โฟล์คส มาบวกเพิ่มได้อีกในนาทีที่ 60 ขณะที่ โชเซ่ ตอร์เรส มายิงไล่ขึ้นมาให้กับเบนฟิก้าเมื่อเหลือเวลาในเกมอีก 10 นาที กุตต์มันน์ดูเหมือนจะพอใจกับผลการแข่งขันนัดนี้ เขามั่นใจว่าทีมของเขาจะกลับมาพลิกสถานการณ์กลับมาได้เมื่อไปแข่งเกมที่ 2 กันที่ลิสบอน
แต่ก็กลายเป็น จอร์จ เบสต์ ที่โชว์ฟอร์มแจ่มด้วยการซัดคนเดียว 2 ประตูช่วยให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด บุกไปเอาชนะอีกด้วยสกอร์ 5-1
แม้ว่า แมตต์ บัสบี้ ยังต้องรอไปอีก 2 ปีกว่าที่ทีมชุดนี้จะคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ มาครองได้ แต่ชัยชนะเหนือเบนฟิก้าของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็กลายเป็นสัญญาณที่ดีที่บอกว่าความสำเร็จในระดับยุโรปกำลังจะมาถึงในถิ่นโอลด์ แทรฟฟอร์ด
4. 21 มีนาคม 1984 : แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 3-0 บาร์เซโลน่า
เวลาผ่านมา 18 ปี มันเป็นช่วงรอยต่อระหว่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หลังยุคบัสบี้ กับก่อนยุคเฟอร์กูสัน
ตอนนั้น รอน แอตกินสัน เป็นผู้จัดการทีม โดยมี ไบรอัน ร็อบสัน เป็นนักเตะดังในทีม แต่ว่าแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็กลายเป็นทีมที่มีลุ้นแค่แชมป์บอลถ้วยเท่านั้นเมื่อไม่สามารถคว้าแชมป์ลีกมาครองได้เลยนับตั้งแต่ปี 1967 สโมสรยังถึงกับต้องตกชั้นในปี 1974 อีกด้วย
นอกจากถ้วยแชมป์จะไม่หลั่งไหลเข้าสู่สโมสรแล้ว ทีมคู่ปรับอย่างลิเวอร์พูลยังผงาดคว้าแชมป์ได้ทั้งในประเทศ และถ้วยยุโรปอีกด้วย แต่แฟนๆ ของทีมปีศาจแดงก็ยังได้เฮกันในเกมคัพ วินเนอร์ส คัพ ที่เปิดบ้านเอาชนะบาร์เซโลน่าของ เซซาร์ หลุยส์ เมน็อตติ ในปี 1984
ตอนนี้ทีมจากกาตาลันก็เหมือนกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พวกเขาไม่ได้อยู่ในช่วงที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของสโมสร แต่ก็ยังคงมีนักเตะระดับโลกหลายคนอยู่ในทีมอย่าง ดิเอโก้ มาราโดน่า, เบิร์นฮาร์ด ชุสเตอร์ และ มาร์กอส อลอนโซ่ โดยเกมแรกที่บาร์เซโลน่า พวกเขาเป็นฝ่ายเอาชนะไปก่อน 2-0 ดูเหมือนว่าลูกทีมของเมน็อตติจะมีโอกาสสดใสที่จะผ่านเข้าสู่รอบต่อไป
แต่ว่า ไบรอัน ร็อบสัน ไม่คิดอย่างนั้น กัปตันมาร์เวลโชว์ฟอร์มอย่างยอดเยี่ยม และก็ยิงคนเดียว 2 ประตูช่วยให้สกอร์กลับมาเท่ากัน สุดท้ายทีมมาได้อีกลูกจาก แฟร้งค์ สเตเปิลตัน เป็นการปิดฉากชัยชนะอันยิ่งใหญ่
เมื่อผู้ตัดสินเป่านกหวีดยาว แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จึงได้ผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศพบกับยูเวนตุส และแฟนๆ ก็แห่กันลงมาในสนามเพื่อเฉลิมฉลองร่วมกับนักเตะ
5. 5 มีนาคม 1997 : แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 4-0 เอฟซี ปอร์โต้
หลังจากที่พาทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คว้าแชมป์มาครองได้พอสมควรแล้ว เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ก็กำลังมองหาความสำเร็จในรายการแชมเปี้ยนส์ ลีก มาสู่ทีมอยู่ การมาเยือนของเอฟซี ปอร์โต้ ในรอบก่อนรองชนะเลิศ เลกแรก ในปี 1997 เป็นเกมที่ลูกทีมของเซอร์ อเล็กซ์ โชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยม ทุกอย่างดูลงตัวไปหมด
บรรยากาศในค่ำคืนนั้นที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด จึงสุดยอดเป็นพิเศษ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้ประตูจาก เดวิด เมย์, เอริค คันโตน่า, ไรอัน กิ๊กส์ และ แอนดี้ โคล และความเหนียวแน่นในแผงหลังก็ช่วยให้ทีมมีโอกาสสูงที่จะทะลุเข้าสู่รอบรองชนะเลิศ
ในเลกต่อมาที่โปรตุเกสจบลงด้วยสกอร์ 0-0 ทำให้ทีมปีศาจแดงผ่านเข้ารอบต่อไป แต่ก็ต้องพลาดท่าตกรอบด้วยน้ำมือของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ แต่ชัยชนะในเกมกับปอร์โต้นั้นก็ช่วยกรุยทางให้ทีมทำผลงานได้ดีขึ้นมาจนคว้าแชมป์ได้ในปี 1999 นักเตะในทีมมีความมั่นใจขึ้นมากในเวทียุโรป ทุกอย่างเป็นผลพวงมาจากค่ำคืนดังกล่าวที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด นั่นเอง
6. 23 เมษายน 2003 : แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 4-3 เรอัล มาดริด
แม้ว่าจะมีหลายต่อหลายเกมที่น่าจดจำในปี 1999 ที่ทีมคว้าทริปเปิ้ลแชมป์ แต่ค่ำคืนเหล่านั้นของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็ไปเกิดขึ้นที่สนามอื่นแทบทั้งนั้น อย่างเช่นเกมเยือนยูเวนตุสที่ตูริน, เตะกับอาร์เซนอลที่วิลล่า พาร์ค, และแน่นอน นัดชิงชนะเลิศแชมเปี้ยนส์ ลีก กับบาเยิร์น มิวนิค ที่คัมป์ นู ด้วย
ดังนั้นค่ำคืนที่ยิ่งใหญ่เกมต่อมาที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด จึงมาเกิดขึ้นในเกมที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีชัยชนะเหนือเรอัล มาดริด ไป 4-3 เป็นอีกครั้งที่ทั้งสนามลุกเป็นไฟ แม้ว่าในเกมแรกทีมปีศาจแดงจะบุกไปแพ้ที่เบร์นาเบวมาก่อน 1-3 ก็ตาม
แฮตทริคของ โรนัลโด้ ที่โรงละครแห่งความฝันทำให้ความหวังที่จะกลับมาเป็นเรื่องยาก แต่ด้วยมาตรฐานของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แล้ว ทีมไม่เคยยอมแพ้ง่ายๆ อยู่แล้ว เดวิด เบ็คแฮม ลุกจากม้านั่งสำรองมายิงคนเดียว 2 ประตู หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทีมได้ประตูจาก รุด ฟาน นิสเตลรอย และการทำเข้าประตูตัวเองของ อิบัน เอลเกร่า ทีมปีศาจแดงพลิกกลับมาเอาชนะ แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการเข้ารอบ เนื่องจากถูกยอดศูนย์หน้าชาวบราซิลเล่นงานไปเสียก่อนแล้วนั่นเอง
แฟนๆ ทั้งสนามต่างก็ปรบมือให้กับโรนัลโด้ที่คว้าตำแหน่งแมน ออฟ เดอะ แมตช์ ไป จากผลงานนัดนี้ทำให้ เซอร์ อเล็กซ์ หันมาจัดทีมแบบระมัดระวัง และเน้นการคอนโทรลเกมมากขึ้นในเวทียุโรป ซึ่งนั่นส่งผลดีต่อแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในเวลาต่อมา
7. 10 เมษายน 2007 : แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 7-1 โรม่า
เกมนี้มีประตูเกิดขึ้นถึง 7 ลูก และจะนับเป็น 8 ลูกก็ได้ หากว่านับลูกยิงของ ดานิเอเล่ เด รอสซี่ ของโรม่าเข้าไปด้วย จะว่าไปมันก็ไม่ใช่เกมง่ายสำหรับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เลยแม้แต่น้อย โรม่าพกดีกรีรองแชมป์กัลโช่ เซเรีย อา ในปี 2005, 2006 และ 2007 มา แถมยังมีนักเตะอย่าง ฟรานเชสโก้ ต็อตติ, ดาบิด ปาซาร์โร่, ซิโมเน่ แปร์ร็อตต้า, คริสเตียน คิวู, ดานิเอเล่ เด รอสซี่ และมี โดนี่ เป็นผู้รักษาประตูด้วย
ไมเคิล คาร์ริค ซึ่งนานๆ จะยิงสักครั้งก็ทำได้ 2 ประตู นักเตะที่เพิ่งหายจากอาการบาดเจ็บอย่าง อลัน สมิธ ก็ยิงได้เช่นกัน และก็มาปิดท้ายด้วยประตูของ ปาทริซ เอฟร่า นอกจากนี้ เวย์น รูนี่ย์ กับ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ก็มีชื่อเป็นผู้ทำประตูเช่นเดียวกัน และโรม่าก็ถือเป็นเหยื่อรายแรกของทีมปีศาจแดงที่ลงเล่นด้วยระบบแบบไร้กองหน้าตัวเป้า จากนั้นการย้ายเข้ามาของ คาร์ลอส เตเบซ ในช่วงซัมเมอร์ปี 2007 ก็ทำให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ปรับแผนมาเล่นแบบ 4-6-0 ก่อนที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จในแชมเปี้ยนส์ ลีก ได้อีกครั้งในเวลาต่อมา
8. 29 เมษายน 2008 : แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 1-0 บาร์เซโลน่า
ค่ำคืนในโอลด์ แทรฟฟอร์ด ที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พบกับบาร์เซโลน่ารอบรองชนะเลิศ เลกสอง ในปี 2008 นั้นเป็นข้อพิสูจน์ว่าคุณไม่จำเป็นต้องอาศัยประตูมากมายในการสนุกสนานไปกับเกมฟุตบอล
ทั้ง 2 ทีมเสมอกันมา 0-0 ในเลกแรก โดยรูปเกมนั้นค่อนข้างน่าอึดอัด เช่นเดียวกับในเกมนี้ พอล สโคลส์ ซัดประตูเดียวของเกมในนาทีที่ 14 จากการยิงไกลนอกกรอบเขตโทษแบบสมบูรณ์แบบ บอลพุ่งโค้งเสียบตาข่ายไป ขณะเดียวกันฟอร์มอันยอดเยี่ยมของผู้รักษาประตู เอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์ และคู่กองหลังอย่าง ริโอ เฟอร์ดินานด์ และ เนมานย่า วิดิช ก็ได้ปิดกั้นโอกาสของทั้ง เธียร์รี่ อองรี และ เดโก้ ซึ่งบาร์เซโลน่าต้องการเพียงแค่ประตูเดียวเท่านั้นในการผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศแชมเปี้ยนส์ ลีก ด้วยกฏประตูทีมเยือน
สุดท้ายก็เป็นแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่คว้าตั๋วไปเตะที่กรุงมอสโกว์ ถือเป็นทีมอีกชุดหนึ่งของ เซอร์ อเล็กซ์ ที่ประสบความสำเร็จในระดับสูงสุด ส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้กับผู้ช่วยของเขาอย่าง คาร์ลอส กีรอซ ด้วย โดยในนัดชิงชนะเลิศ ทีมปีศาจแดงก็คว้าแชมป์ไปครองได้สำเร็จ
นอกจากนี้แล้ว การคว้าแชมป์ยุโรปในปี 2008 นั้นยังถือเป็นการรำลึกครบรอบ 50 ปีเหตุการณ์ที่มิวนิคเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ด้วย
9. 27 มกราคม 2010 : แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 3-1 แมนเชสเตอร์ ซิตี้
เป็นเกมเดียวในลิสต์นี้ที่ไม่ได้มาจากเกมยุโรป และมันก็เป็นการขัดขวางจากทีมปีศาจแดงไม่ให้แมนเชสเตอร์ ซิตี้ คว้าแชมป์รายการแรกของพวกเขาในรอบ 34 ปีด้วย ตอนนั้นทีมเรือใบสีฟ้าแข็งแกร่งขึ้นมากจากเงินทุนมหาศาล แต่พวกเขาก็ยังไม่สามารถคว้าแชมป์ใดๆ มาครองได้ และมาในเกมนี้ก็เป็นโอกาสอันดีที่ทีมฝั่งสีแดงจะหยุดยั้งไม่ให้คู่ปรับร่วมเมืองทะลุเข้าไปสู่รอบชิงชนะเลิศ โดยการพบกันในเลกแรกนั้นแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เอาชนะไปก่อน 2-1
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พลิกสถานการณ์กลับมาได้ในการพบกับที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด ประตูจาก พอล สโคลส์ และ ไมเคิล คาร์ริค ช่วยให้ผลประตูรวมพลิกกลับมานำ 3-2 แต่ทีมเยือนก็ตามกดดันอย่างไม่ลดละจนมาได้ประตูตีตื้นจาก คาร์ลอส เตเบซ อดีตนักเตะปีศาจแดงที่ย้ายไปร่วมคู่แข่งในนาทีที่ 76
เกมเข้าสู่ช่วงทดเวลาบาดเจ็บ เกมทำท่าว่าจะจบกันตรงนี้แล้ว แต่ในนาทีที่ 92 ลูกครอสจาก ไรอัน กิ๊กส์ ก็มาถึงรูนี่ย์ที่สำเร็จโทษเข้าไป ทำให้ความหวังในการคว้าแชมป์ของทีมเรือใบสีฟ้านั้นยังต่อรอต่อไปอีกปีเป็นอย่างน้อย
10. 5 มีนาคม 2013 : แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 1-2 เรอัล มาดริด
ลิสต์นี้เริ่มต้นขึ้นด้วยค่ำคืนแรกในเกมยุโรปที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด และมันก็จบลงที่เกมสุดท้ายในศึกยุโรปที่มี เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เป็นผู้จัดการทีมให้กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แม้ว่าเกมกับเรอัล มาดริด นั้นจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้คาบ้าน แต่มันก็มีอะไรให้น่าจดจำกว่านั้นมาก ทั้งการกลับคืนถิ่นเก่าของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ข่าวลือเรื่องการมารับงานที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของ โชเซ่ มูรินโญ่ ใบแดงปริศนาของ หลุยส์ นานี่ การทำเข้าประตูตัวเองของ เซร์คิโอ รามอส การแก้เกมของทั้ง 2 ทีมที่ทำให้เกมออกมาสนุกสนานมากกว่าน่าเบื่อ ฯลฯ ถือว่ามันเป็นเกมที่น่าตื่นเต้นระหว่าง 2 สโมสรที่มีสีสันมากที่สุดในโลกฟุตบอลเลยก็ว่าได้
ภาพที่ เซอร์ อเล็กซ์ ลุกขึ้นมาปลุกเสียงเชียร์จากแฟนบอลให้ทำหน้าที่เป็นผู้เล่นคนที่ 11 แทนนักเตะที่ถูกไล่ออกจากสนามไป ถือเป็นภาพที่น่าจดจำเป็นอย่างยิ่งก่อนที่เขาจะก้าวลงจากตำแหน่งผู้จัดการทีม
แน่นอนว่าเรื่องราวทั้งหมดนี้มันไม่ใช่ค่ำคืนที่ยิ่งใหญ่สำหรับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่มันเป็นค่ำคืนที่ยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นในสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด ต่างหาก
SiR KeaNo
2001-2024 RED ARMY FANCLUB Official Manchester United Supporters Club of Thailand. #ThaiMUSC